ภารกิจพิชิตคำ

อรุณี แสงศรี
อรุณี แสงศรี
138 ผู้ชม

แบบสรุปการนำบอร์ดเกมไปใช้ในห้องเรียน สพป. พิจิตรเขต 1

ชื่อ – นามสกุลครู  นางสาวอรุณี  แสงศรี ชื่อแผนการเรียนรู้  คำนาม

สาระวิชาภาษาไทย  ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  โรงเรียนวัดบ้านไร่

ประเด็นที่ 1 คำอธิบายแผนการเรียนรู้ / แรงบันดาลใจในการสร้างเกม (แนบภาพถ่ายบอร์ดเกมที่ได้รับจาก กสศ. ร่วมกับนักเรียนในห้อง)
         
การจัดการเรียนการสอนในศตวรรษที่ 21 มุ่งเน้นให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้การปฏิบัติและสร้างแรงบันดาลใจไปพร้อมๆกัน คือจะไม่เป็นเพียงผู้รับเท่านั้น แต่ผู้เรียนจะต้องเป็นผู้ที่รู้จักการศึกษาค้นคว้าด้วยตนเอง และสามารถนำมาใช้ได้ถูกต้อง การเรียนการสอนภาษาไทยก็เช่นเดียวกัน หากนักเรียนเป็นเพียงแค่ผู้รับเพียงอย่างเดียวก็จะทำให้การเรียนเกิดความน่าเบื่อ ไม่น่าสนใจ อีกทั้งผู้เรียนยังไม่เข้าใจในเนื้อหาวิชาที่เรียนอย่างแท้จริง

         การจัดการเรียนรู้โดยใช้เกมเป็นฐาน (Game-Based Learning) บอร์ดเกม (Board game) นับเป็นเกมประเภทหนึ่งที่ใช้วัสดุอุปกรณ์ต่าง ๆ มาผนวกกับกลไกของเกม มีกฎและกติกาที่มีความซับซ้อนหลากหลายรูปแบบมาให้ผู้เล่นได้วางแผน ผู้เรียนจะได้เปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ที่รอรับข้อมูลจากครูผู้สอนเพียงอย่างเดียวมาเป็นผู้เล่น ในสถานการณ์จำลองของเกมที่มีเหตุการณ์ให้ทดลองวางแผนบริหารจัดการเพื่อบรรลุภารกิจต่าง ๆ ภายใต้กฎกติกาของเกมนั้น ๆ โดยผู้เรียนได้เล่นเอง จะเห็นผลลัพธ์ในการตัดสินใจของตนเองและช่วยเพิ่มแรงกระตุ้นให้ผู้เล่นจดจ่อและสนใจเกมด้วยการแข่งขันพร้อมกับให้ความสนุกสนานไปด้วย บอร์ดเกมจะส่งเสริมให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ เข้าใจและจดจำบทเรียนได้ง่ายและพัฒนาทักษะต่าง ๆ รวดเร็ว ได้รู้จักทำงานร่วมกัน มีกระบวนการในการทำงานและการอยู่ร่วมกัน บอร์ดเกมเป็นสื่อการสอนรูปแบบหนึ่งที่ผู้เรียนให้ความสนใจ เป็นวิธีสอนที่กระตุ้นให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียนรู้สูง ผู้เรียนได้รับความสนุกสนานและเกิดการเรียนรู้จากการเล่น

 

จากการที่ได้เข้าร่วมโครงการอบรมเชิงปฏิบัติการหลักสูตรการพัฒนานวัตกรรมบอร์ดเกม (Board Game) เพื่อการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) สำหรับครูในศตวรรษที่ 21 ปีการศึกษา  2566 ณ ห้องประชุมชาละวัน สพป.พิจิตร เขต 1 ระหว่างวันที่  29-30 มิถุนายน 2566 นั้น ทำให้มีแรงบันดาลใจในการจัดทำสื่อการเรียนการสอนโดยการสร้างบอร์ดเกมเพื่อพัฒนาทักษะกระบวนการเรียนรู้ของผู้เรียน โดยเริ่มจากการศึกษาข้อมูลวิธีการออกแบบบอร์ดเกม (Board Game) ในรูปแบบต่างๆ เพื่อนำมาใช้ในการจัดการเรียนการสอน เรื่อง คำนาม ได้สำเร็จ เมื่อนำบอร์ดเกมมาใช้กับนักเรียนทำให้นักเรียนเกิดความสนใจที่อยากจะเรียนรู้วิชาภาษาไทยมากยิ่งขึ้น เนื่องจากเป็นสิ่งที่แปลกใหม่ น่าสนใจสำหรับนักเรียน ทำให้นักเรียนมีความกระตือรืนร้นที่อยากจะเล่น อยากจะเรียนรู้ และมีความสุขทุกครั้งที่ได้เรียน นอกจากนี้การเรียนการสอนโดยการใช้บอร์ดเกมเรื่อง คำนาม นั้น ยังส่งผลให้นักเรียนมีความรู้ที่ฝังลึกมากยิ่งขึ้น และเมื่อใช้แบบทดสอบ นักเรียนสามารถทำแบบทดสอบหลังเรียนได้ดี บรรลุตามวัตถุประสงค์ที่ตั้งไว้ คือนักเรียนสามารถบอกความหมายและชนิดของคำนามได้ รวมทั้งสามารถยกตัวอย่างคำนามชนิดต่างๆได้อย่างถูกต้อง

          จะเห็นได้ว่าสื่อการจัดการเรียนการสอนบอร์ดเกม (Board Game) นั้นมีส่วนสำคัญที่ทำให้นักเรียนเกิดกระบวนการเรียนรู้ มีทักษะในการตัดสินใจ แก้ปัญหาและเรียนรู้ด้วยความสนุกสนานทำให้เกิดความเข้าใจอย่างแท้จริง


ประเด็นที่ 2  วิธีการเล่นเกม / ขั้นตอนการเล่น  (แนบรูปภาพบอร์ดเกมและการ์ดเกมที่ครูทำไว้)

1. วางตัวผู้เล่นบนจุดเริ่มต้น (Start)

2. เลือกผู้เล่นคนแรกโดยการโยนลูกเต๋าคนละ 1 ครั้ง ใครได้แต้มมากที่สุดเป็นผู้เล่นคนแรก

(คนที่ได้แต้มรองลงมา เป็นผู้เล่นคนถัดไป ตามลำดับ)

3. วางบัตรคำนามชนิดต่างๆบนพื้นบอร์ด

4. โยนลูกเต๋าและเคลื่อนย้ายตัวผู้เล่นไปตามจำนวนผลลัพธ์ที่โยนได้

5. ถ้าหยุดลงบนพื้นที่บัตรใดให้ตอบคำถามให้ถูกต้องว่าคำที่พบเป็นคำนามชนิดใดหากตอบถูก         ก็จะได้รับเหรียญตามที่ระบุในบัตรพร้อมกับเก็บและเปลี่ยนบัตรใหม่ (ตอบผิดเสียเหรียญตามที่ระบุบนบัตร)

6. ถ้าหยุดลงบนพื้นที่ท้าทาย ให้เปิดบัตรท้าทายและตอบคำถามให้ถูกต้อง (จึงจะได้เหรียญตามที่ระบุไว้บนบัตร)

7. ถ้าหยุดลงบนพื้นที่เสี่ยงดวง ให้เปิดบัตรเสี่ยงดวง แล้วลุ้นโชคที่จะได้รับ

8. ถ้าหยุดลงบนพื้นที่คืนความทรงจำ ให้เปิดบัตรความทรงจำ แล้วอ่านข้อความที่ระบุในบัตร

9. ครบเวลา 10 นาที ผู้เล่นคนใดได้จำนวนเหรียญมากที่สุดเป็นผู้ชนะในเกมเกมนั้น

 การยุติการเล่น : หมดเวลา

การคิดคะแนนหลังจบเกม : นับเหรียญ


ประเด็นที่ 3 คุณลักษณะของผู้เรียนในห้องเรียนที่ใช้บอร์ดเกม แตกต่างจากการเรียนการสอนปกติอย่างไรบ้าง (แนบภาพเด็กเล่นบอร์ดเกม)

            1. นักเรียนเกิดความสนุกสนาน มีเสียงหัวเราะ มีความสุขทุกครั้งที่ได้เล่นเกม

          2. นักเรียนรู้จักกระบวนการกลุ่ม มีความสามัคคี มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่น หากในกลุ่มมีเพื่อนอ่านหนังสือไม่คล่องสมาชิกในกลุ่มก็จะช่วยเพื่อนอ่านสะกดคำ หรือเมื่อเพื่อนไม่เข้าใจวิธีการเล่นสมาชิกในกลุ่มก็จะช่วยกันอธิบาย

          3. นักเรียนเกิดการเรียนรู้ที่ดีขึ้นจากเดิม 


ประเด็นที่ 4 สัมภาษณ์ผู้เรียนตัวอย่าง 2 คน (พร้อมรูปถ่ายเดี่ยวนักเรียน)



                           เด็กชายศุทธ์ธีวัช  มณีศรี  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

-  การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทำให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างไร หรือ มีข้อดีต่อการเรียนรู้ของเราอย่างไร

          “การเรียนผ่านบอร์ดเกมทำให้ผมมีความสนุกกับการเรียนมากยิ่งขึ้น และทำให้ผมเข้าใจเนื้อหาเรื่องคำนามมากยิ่งขึ้น เพราะบอร์ดเกมจะมีการยกตัวอย่างคำทำให้เราต้องคิด วิเคราะห์ซ้ำๆจนทำให้เราจำได้”

-  อธิบายสิ่งที่อยากให้ครูพัฒนาในบอร์ดเกมที่ได้เล่น

          “อยากให้ครูนำบอร์ดเกมไปใช้กับเรื่องอื่นๆด้วย เช่น คำวิเศษณ์ คำกริยา”





                               เด็กหญิงวชิรญาณ์  สบายจิตร  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่  6

-  การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทำให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างไร หรือ มีข้อดีต่อการเรียนรู้ของเราอย่างไร

          “หนูชอบเล่นบอร์ดเกม เพราะเหมือนเป็นการเล่นมากกว่าการเรียน แต่ก็ทำให้เข้าใจในเนื้อหาของเรื่องที่กำลังเล่นอยู่”

-  อธิบายสิ่งที่อยากให้ครูพัฒนาในบอร์ดเกมที่ได้เล่น

“หนูอยากให้เปลี่ยนรูปแบบเป็นจับคู่ หรือ บิงโก หรือบันไดงูบ้างค่ะ”





บทความอื่นๆ