การจัดการเรียนการสอนโดยใช้นวัตกรรมบอร์ดเกมการเปลี่ยนรูปพลังงาน ป.3

ณัฐณิชา อินสุวรรณ
ณัฐณิชา อินสุวรรณ
343 ผู้ชม

แบบสรุปการนำบอร์ดเกมไปใช้ในห้องเรียน สพป. พิจิตร เขต 1

ชื่อ - นามสกุลครู นางสาวณัฐณิชา  อินสุวรรณ    ชื่อแผนการเรียนรู้ การเปลี่ยนรูปพลังงาน

สาระวิชา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 3    โรงเรียน วัดหนองหลวง

 

ประเด็นที่ 1 คำอธิบายแผนการเรียนรู้ / แรงบันดาลใจในการสร้างเกม

          ปัจจุบันการจัดการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นศูนย์กลาง เป็นวิธีการที่ผู้เกี่ยวข้องกับการจัดการศึกษาโดยเฉพาะผู้สอนในสถานศึกษาแต่ละระดับควรนำมาใช้ในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนหรือการจัดการเรียนรู้ให้กับผู้เรียนเป็นอย่างยิ่ง เพราะเป็นวิธีที่สามารถพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดองค์ความรู้ครบทุกด้านทั้งทางด้าน ร่างกายอารมณ์ สังคม และสติปัญญา รวมทั้งเป็นวิธีที่เปิดโอกาสให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการเรียน บอร์ดเกมเป็นสื่อนวัตกรรมประเภทหนึ่ง ที่ครูผู้สอนใช้ในการประกอบการจัดการเรียนการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ โดยนักเรียนสามารถศึกษาสื่อต่าง ๆ ซึ่งเป็นรูปแบบของการสื่อสารระหว่างครูผู้สอนกับนักเรียน ซึ่งประกอบไปด้วยคำแนะนำให้นักเรียนทำกิจกรรมอย่างมีขั้นตอนและเป็นระบบ อีกทั้งกิจกรรมยังเน้นการฝึกทักษะกระบวนการคิดวิเคราะห์ ส่งเสริมให้ผู้เรียนได้พัฒนาการความคิดซึ่งมีประโยชน์ต่อการดำเนินชีวิต อีกทั้งการนำสื่อมาช่วยในการเรียนการสอนทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และสามารถทบทวนได้ด้วยตนเองอย่างไม่มีข้อจำกัดและส่งผลให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น สอดคล้องกับการศึกษาในยุคปัจจุบัน จึงส่งผลให้ครูผู้สอนต้องหาแนวทางเพื่อปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพและเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนทุกด้านโดยมีแนวคิดว่า สื่อหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสามารถพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ในเวลาอันรวดเร็วและเป็นเครื่องมือในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนสูงขึ้น

          จากการวิเคราะห์ปัญหาในการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งพบว่านักเรียนไม่มีสมาธิ ขาดแรงจูงใจ และความกระตือรือร้นในการเรียนการสอนแบบปกติ

          ครูผู้สอนจึงแก้ปัญหาโดยการออกแบบเครื่องมือหรือสื่อที่ช่วยให้ผู้เรียนมีสมาธิ มีแรงจูงใจ มีความกระตือรือร้นในการจัดการเรียนการสอน โดยเลือกใช้บอร์ดเกมเพื่อการศึกษาเป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอน และใช้บอร์ดเกมมาช่วยในการแก้ปัญหาดังกล่าว เพื่อให้ผู้เรียนเกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ เพลิดเพลิน สนุกกับการเรียนและยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ สติปัญญา สังคม รู้จักคิดหาเหตุผล รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และช่วยในการจดจำเนื้อหาบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น


ประเด็นที่ 2  วิธีการเล่นเกม / ขั้นตอนการเล่น

1. จำนวนผู้เล่น 2-4 คน ต่อ 1 กลุ่ม สับการ์ดทั้ง 52 ใบ แจกการ์ดคนละ 5 ใบ จากนั้นวางการ์ดที่เหลือไว้บนบอร์ดเกม


2. ผู้เล่นโอน้อยออกหรือเป่ายิงชุบเพื่อเลือกผู้เล่นคนแรก ผู้เล่นที่อยู่ทางขวามือจะเป็นผู้เล่นลำดับที่ 2, 3, 4 ตามลำดับ

3. ผู้เล่นแต่ละคนจะต้องจับคู่การ์ดบนมือที่มีการแปรรูปพลังงานเหมือนกัน และลงการ์ดลงในช่องการแปรรูปพลังงานที่เลือก (ต้องลงการ์ดตั้งแต่ 2 ใบขึ้นไปเท่านั้น) แล้วจั่วการ์ดบนบอร์ดเกมให้มีจำนวน 5 ใบเหมือนเดิม

4. หากลงการ์ดมากกว่าช่องด้านขวามือที่ใกล้ที่สุดได้ สามารถยึดการ์ดแถวทางด้านขวามือที่ใกล้ที่สุด 1 แถว

5. ผู้เล่นที่สามารถยึดการ์ดในกระดานมาได้มากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ



ประเด็นที่ 3 คุณลักษณะของผู้เรียนในห้องเรียนที่ใช้บอร์ดเกม แตกต่างจากการเรียนการสอนปกติอย่างไรบ้าง

1. มุ่งมั่นในการทำงาน นักเรียนมีการศึกษารายละเอียดและวิธีการเล่นเกมอย่างกระตือรือร้น มีความมานะ พยายาม สามารถเล่นเกมจนจบได้สำเร็จ

2. ซื่อสัตย์ นักเรียนสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่ม และของกิจกรรมการเรียนรู้ได้

3. ความมีจิตสาธารณะ นักเรียนมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม เมื่อเพื่อนไม่สามารถจับคู่การ์ดได้ นักเรียนได้ช่วยเพื่อนจับคู่การ์ดได้อย่างถูกต้อง ทำให้เกมสามารถดำเนินต่อไปได้


  


ประเด็นที่ 4 สัมภาษณ์ผู้เรียนตัวอย่าง 2 คน

 


เด็กหญิงจีรณัฐ  พรมมี  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

1. การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทำให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างไร หรือ มีข้อดีต่อการเรียนรู้ของเราอย่างไร

    “การเรียนผ่านบอร์ดเกมทำให้การเรียนสนุก ไม่น่าเบื่อ และสามารถจดจำพลังงานต่าง ๆ ได้”

 

2.  อธิบายสิ่งที่อยากให้ครูพัฒนาในบอร์ดเกมที่ได้เล่น

    “อยากให้เพิ่มช่องพลังงานลม และพลังงานน้ำ”



เด็กชายนพดล  แสงสาย  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

1. การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทำให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างไร หรือ มีข้อดีต่อการเรียนรู้ของเราอย่างไร

    “การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทำให้เข้าใจในเนื้อหาได้ง่ายขึ้น เห็นภาพพลังงานได้ชัดเจนในรูปการ์ด สามารถนำความรู้ไปใช้ในชีวิตประจำวันได้”

 

2.  อธิบายสิ่งที่อยากให้ครูพัฒนาในบอร์ดเกมที่ได้เล่น

    “อยากให้มีการ์ดช่วยเพื่อน แลกเปลี่ยนการ์ดในมือเพื่อน และอยากให้มีบอร์ดเกมในวิชาอื่น ๆ”

การจัดการเรียนรู้

นวัตกรรมบอร์ดเกม

บอร์ดเกม

Active Learning

วิทยาศาสตร์

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 3

บทความอื่นๆ