บิงโก พลัส เรื่อง สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต

มณฑกานต์ เฮงรัสมี
มณฑกานต์ เฮงรัสมี
3,861 ผู้ชม

นางมณฑกานต์  เฮงรัสมี ชื่อแผนการเรียนรู้ ลักษณะของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต  สาระวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลสากเหล็ก

ประเด็นที่ 1 คําอธิบายแผนการเรียนรู้/ แรงบันดาลใจในการสร้างเกม 
        จากการสังเกตการจัดการเรียนการสอนในรายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนอนุบาลสากเหล็ก พบว่า ในการจัดการเรียนการสอนตามปกติทําให้ผู้เรียนส่วนใหญ่ไม่กระตือรือร้นที่จะเรียนรู้ในรายวิชาวิทยาศาสตร์ ไม่สนุกกับการเรียนและไม่มีปฎิสัมพันธ์เกี่ยวกับเรื่องที่เรียนกับเพื่อนในการเรียนรู้ เป็นสิ่งที่ครูต้องนำมาคิดเป็นการบ้านทุกวันว่า  นักเรียนยุคที่มีการสื่อสารไร้พรมแดนเข้าถึงผู้เรียนได้ตลอดเวลานั้น  จะต้องจัดการเรียนการสอนอย่างไรให้ได้ทั้งความรู้และผู้เรียนมีความสนใจทั้งสนุกทั้งมีความสุขกับการเรียนได้ไปพร้อมๆกัน แต่เมื่อได้สมัครเข้าร่วมการอบรมเชิงปฏิบัติการ การพัฒนานวัตกรรมบอร์ดเกม (Board Game) เพื่อการเรียนรู้เชิงรุก (Active learning) ในศตวรรษที่ 21 จัดโดยสํานักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพิจิตร เขต 1 และได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กศส.) เมื่อได้รับความรู้จาการอบรมแล้วนั้น จึงเกิดแรงบันดาลใจที่นำมาซึ่งการสร้างบอร์ดเกม “สิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต” เป็นบอร์ดเกมที่ครูตั้งใจหยิบเนื้อหาหน่วยการเรียนรู้สิ่งมีชีวิต เรื่องสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 เพื่อมาช่วยให้ผู้เรียนเข้าใจเรื่องการจำแนกลักษณะสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตได้ดียิ่งขึ้น โดยออกแบบการเรียนรู้เชิงรุก (Active Learning) ให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในการจัดการเรียนรู้ได้เรียนรู้ผ่านการเล่นเกม ซึ่งสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตที่นำมาไว้ในเกมนั้นเป็นสิ่งที่อยู่ใกล้ตัวที่ผู้เรียนพบเห็นได้ในชีวิตประจําวัน เพื่อให้ผู้เรียนสามารถเชื่อมโยงความรู้ใหม่เข้ากับประสบการณ์เดิมได้ เมื่อนําเนื้อหาเข้ามาไว้ในบอร์ดเกมสร้างความท้าทายทําให้ห้องเรียนเปลี่ยนจากการนั่งทำใบงานใบกิจกรรม  เกิดการแข่งขัน มีความสนุกขึ้น ดึงดูดความสนใจผู้เรียนได้มากขึ้น เกิดการเรียนรู้แบบมีส่วนร่วม ทําให้ความรู้นั้นมีความหมายและมีความคงทน  หลังจากจบการเรียนภายในคาบแล้วนั้น ผู้เรียนยังมีความสนใจที่จะเล่นเกม จากบอร์ดเกมโดยไม่มีความเบื่อหน่าย ผู้เรียนร้อยละ 95 ยังให้ความสนใจในบอร์ดเกมโดยจะหาเวลาว่างมาขอเล่นบอร์ดเกมเป็นประจำ  แม้ผู้เรียนบางคนจะอ่านไม่ค่อยได้แต่ได้ความความรู้จากการเล่นเกมเป็นประจำจนเกิดความรู้นั้นไปโดยไม่ทันรู้ตัว

ประเด็นที่2 วิธีการเล่นเกม / ขั้นตอนการเล่น (แนบรูปภาพบอร์ดเกมและการ์ดเกมที่ครูทําไว้)

     1.วิธีการใช้บอร์ดเกม บอร์ดเกม บิงโกสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิต มีวิธีเล่น 2 แบบ

        แบบที่ 1 การเล่นเป็นกลุ่ม

        1.1   นักเรียนแต่ละกลุ่มจะทำการหมุนเสี่ยงทายผู้เล่นจะกังหันเสี่ยงทาย ภายในบอร์ดเกม หาผู้เริ่มเกมคนแรก โดยนักเรียนคนที่หมุนพบสีแรกที่ตนเลือกจะเป็นผู้เริ่มเกมก่อน ผู้เล่นที่พบสีถัดไปจะได้เล่นเป็นผู้เล่นต่อไป โดยให้นั่งอยู่ซ้ายมือของผู้เล่นคนก่อนหน้า และหมุนหาจนครบผู้เล่น จึงเริ่มเล่นเกม 

     1.2 สับการ์ดวางการ์ดตามตําแหน่งที่กําหนดไว้ในบอร์ดเกม โดยวางการ์ดคำถาม ตรงกลางบอร์ดเกมและวางการ์ดคลังความรู้ในบอร์ดเกมตามตําแหน่งที่กําหนดให้ในกระดานบอร์ดเกมและแจกตารางบิงโกให้กับผู้เล่นคนละ 1 ใบทุกคนในกลุ่ม และให้ตัววางสำหรับวางคนละ 1 ชุด(22 ตัว) และเหรียญทองกลุ่มละ 1 กล่อง (100 เหรียญ)

     1.3 ผู้เล่นคนแรกจับการ์ดคำถามมาหนึ่งใบ แล้วผู้เล่นทุกคนในกลุ่มจะช่วยกันถาม 2 คำถามว่าภาพในการ์ดคือ  (1) สิ่งมีชีวิตหรือสิ่งไม่มีชีวิต (2) ให้บอกลักษณะที่เป็นสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตมาให้ได้ 1 อย่าง” เช่น ภาพต้นไม้ (1) ต้นไม้เป็นสิ่งมีชีวิต(2) เพราะต้นไม้เติบโตได้” โดยถ้าผู้เล่นตอบได้ทั้งสองคำถาม จะได้เหรียญทองสะสม 2 เหรียญ

     1.4 หลังจากนั้น ทุกคนในกลุ่มจะนำตัววางไปวางบนกระดานตารางในภาพต้นไม้เหมือนกันทุกคน

     1.5 ผู้เล่นคนที่สองและคนถัดไปก็จะทำเช่นเดียวกับคนผู้เล่นคนแรก 

     1.6 กรณีมีผู้เล่นบางคนจับการ์ดคำถามแล้วพบคำว่า BINGO สิ่งมีชีวิตและ BINGO สิ่งไม่มีชีวิต ผู้เล่นสามรถเลือกภาพสิ่งที่ตนเองต้องการวาง  แล้วผู้เล่นทุกคนในกลุ่มจะช่วยกันถาม 2 คำถามว่าภาพที่เลือกในการ์ดคือ  (1) สิ่งมีชีวิตหรือสิ่งไม่มีชีวิต (2) ให้บอกลักษณะที่เป็นสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตมาให้ได้ 1 อย่าง” เช่น ภาพเมฆ (1) เมฆเป็นสิ่งไม่มีชีวิต (2) เพราะเมฆหายใจไม่ได้” โดยถ้าผู้เล่นตอบได้ทั้งสองคำถาม จะได้เหรียญทองสะสม 2 เหรียญและเพื่อนๆก็ต้องวางตัววางเช่นเดียวกัน และผู้เล่นมีสิทธิ์หมุนวงล้อเที่ยงทาย รับเหรียญเพิ่มอีกโดย สีน้ำเงิน รับ 1 เหรียญสีแดง รับ 2 เหรียญ สีเขียวรับ 5 เหรียญ และสีเหลือง รับ 10 เหรียญ

     1.8 เมื่อผู้เล่นคนใดคนหนึ่งมีตัววางบนกระดานเรียงกันเหมือนตัวอย่าง พร้อมกับพูดว่า “Bingo” จะได้สะสมเหรียญทอง 5 เหรียญจากกองกลางและหยิบตัววางที่ บิงโกออก และเล่นเกมต่อจนกว่าจะมีการสะสมเหรียญครบตามที่กำหนด


ประเด็นที่ 3 คุณลักษณะของผู้เรียนในห้องเรียนที่ใช้บอร์ดเกม แตกต่างจากการเรียนการสอนปกติอย่างไรบ้าง 

1. ห้องเรียนที่ใช้บอร์ดเกมทําให้ผู้เรียนมีสนในในการเรียนรู้บทเรียนมากขึ้นและได้รับความรู้จากการเล่นและมีความสนุกสนานเพลิดเพลินจากการเรียนรู้

2. ห้องเรียนที่ใช้บอร์ดเกมทําให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยตนเองทําให้ความรู้นั้นมีความคงทน

3. ห้องเรียนที่ใช้บอร์ดเกมทําให้ผู้เรียนมีความกระตือรือร้นในเข้าเรียนจากการเรียนที่ใช้บอร์ดเกมมากกว่าการเรียนการสอนรูปแบบปกติ

4. ห้องเรียนที่ใช้บอร์ดเกมทําให้ผู้เรียนอยากเรียนด้วยความสมัครใจและจะชักชวนกันในเวลาว่างเพื่อมาขอเล่นบอร์ดเกม แม้แต่นักเรียนกลุ่มที่เรียนรู้ช้า ก็ชอบการเล่นเกมบิงโกนี้

5. ห้องเรียนที่ใช้บอร์ดเกมทําให้ผู้เรียนมีความสุขกับการเรียนรู้มากกว่าการเรียนการสอนรูปแบบปกติ 


ประเด็นที่ 4 สัมภาษณ์ผู้เรียนตัวอย่าง 2 คน 

คนที่ 1 เด็กหญิงธนัชชญา  บุญเสรฐ

ถาม : การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทําให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างไร หรือมีข้อดีต่อการเรียนรู้ของเราอย่างไร

ตอบ : ได้ได้ฝึกการสังเกตได้ช่วยกันคิด ได้เล่นสนุกกับเพื่อนๆได้ความรู้ทําให้รู้ว่าลักษณะของสิ่งมีชีวิตและสิ่งไม่มีชีวิตเป็นอย่างไรด้วยค่ะ 

ถาม : อธิบายสิ่งที่อยากให้ครูพัฒนาในบอร์ดเกมที่ได้เล่น

ตอบ : หนูอยากให้มีครูการสะสมเหรียญรางวัลของทุกคนไว้แลกของรางวัลอื่นนอกจากการให้คะแนน และอยากให้ครูทําเกมของวิชาอื่นอีกหลายๆ เกมเลยค่ะ

คนที่ 2 เด็กชายอุดมทรัพย์  กันยัง

ถาม : การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทําให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างไรหรือ มีข้อดีต่อการเรียนรู้ของเราอย่างไร

ตอบ : ได้มีการแข่งกันกับเพื่อน ทําให้จําลักษณะของสิ่งมีชีวิตได้และได้ลุ้นที่จะเป็นผู้ชนะครับ

ถาม : อธิบายสิ่งที่อยากให้ครูพัฒนาในบอร์ดเกมที่ได้เล่น

ตอบ : อยากให้เพิ่มตัวเลขแต่ละใบในการ์ดเพื่อสะสมเหรียญรางวัลด้วยครับ


บทความอื่นๆ