ห้องเรียนต้นแบบ Active Learning เรื่อง สุนทรียภาษา บทกวีสร้างสรรค์ จังหวะ RAP สะท้อนข้อคิด ชั้น ม.2

สุนิสา วิทยาศิริศักดิ์
สุนิสา วิทยาศิริศักดิ์
155 ผู้ชม

ชื่อ – นามสกุลครู นางสาวสุนิสา วิทยาศิริศักดิ์ ชื่อแผนการเรียนรู้ สุนทรียภาษาบทกวีสร้างสรรค์จังหวะ Rap สะท้อนข้อคิด สาระวิชาภาษาไทย  ระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 โรงเรียนบ้านบางกระบือ

 

แบบสรุปการพัฒนาห้องเรียนจากหลักสูตรโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก (IP2)

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษานครศรีธรรมราช เขต


ประเด็นที่ 1  คำอธิบายแผนการเรียนรู้

   เป็นแผนการจัดการเรียนรู้ที่จัดการเรียนการสอนขึ้นโดยเชื่อมโยงจากประสบการณ์โลกในหัวข้อ MILLI ศิลปินเดี่ยวชาวไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเวทีหลัก Coachella ซึ่งเป็นเวทีเพลงระดับโลก โดยนำข้าวเหนียวมะม่วงที่เป็นขนมหวานขึ้นชื่อของไทยไปแสดงบนเวทีจนโด่งดังไปทั่วโลก ผลักดันพลัง Soft Power จึงเกิดแนวคิดในการผลิตนวัตกรรม เนื่องจากผู้เรียนมีปัญหาในการเรียนรู้เรื่องของการใช้คำคล้องจองในการแต่งบทประพันธ์ มีความเบื่อหน่ายในการแต่งคำประพันธ์ในรายวิชาภาษาไทย แต่มีพฤติกรรมในชีวิตประจำวัน คือชอบฟังเพลงและร้องเพลงแนวแรป จึงเกิดเป็นการจัดการเรียนรู้ที่เปลี่ยนผู้เรียนเป็นนักร้องแรป โดยนำบทกลอนร้องแรปที่ตนเองแต่งขึ้น จากการลงพื้นที่สำรวจชุมชนทั้งของดีและปัญหาในชุมชน หากนักเรียนเป็น MILLI จะนำเสนออะไรที่ทำให้ท้องถิ่นเป็นที่รู้จักผ่านบทกวีที่แต่งขึ้น และขับร้องเป็นเพลงแรปของตนเอง 

ประเด็นที่ 2 สรุปรายละเอียดการเรียนรู้ 6 ขั้นตอน

          ขั้นตอนที่ 1: การประเมินระดับการคิดผู้เรียน

          การประเมินระดับการคิดผู้เรียน เป็นขั้นตอนของการจัดการเรียนรู้ที่ใช้เครื่องมือ วีดีโอเกี่ยวกับ MILLI ศิลปินเดี่ยวชาวไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเวทีหลัก Coachella ซึ่งเป็นเวทีเพลงระดับโลก ประสบการณ์โลกในการสร้างแรงบันดาลใจไปสู่การค้นพบปัญหาจากคลิปวีดีโอ มีการใช้ใบความรู้ MILLI ศิลปินเดี่ยวชาวไทยคนแรกที่ได้ขึ้นเวทีหลัก Coaachella ในปีนี้ เป็นบทความประสบการณ์โลกให้นักเรียนเกิดแรงบันดาลใจในการคิดค้นนวัตกรรมและจะช่วยแก้ปัญหาหรือพัฒนาท้องถิ่นของตนเองได้อย่างไร จากนั้นทดสอบความรู้พื้นฐานในเรื่อง ระดับภาษา คำคล้องจอง และความรู้เพลงแรป โดยทำแบบทดสอบความรู้ และใช้แบบถอดบทเรียนเขียนสะท้อนความคิดเห็น/แรงบันดาลใจที่ได้จากการรับชมโชว์บนเวทีเทศกาลระดับโลก Coachella 2022 ของ Milli ผลที่เกิดขึ้นทำให้นักเรียนรู้ระดับความรู้ก่อนเรียนของนักเรียนในเรื่องที่จะศึกษา นักเรียนเขียนถอดบทเรียนสะท้อนความคิดเห็นและพูดนำเสนอการแสดงความคิดเห็นถอดบทเรียนจากประสบการณ์การรับชมโชว์บนเวทีเทศกาลระดับโลก Coachella 2022 ของ Milli เป็นรายบุคคลได้

ขั้นตอนที่ 2: การกระตุ้นความตระหนักและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้  

 กระตุ้นความสนใจของนักเรียนดูวีดีโอรูปแบบการแต่งเพลงแรป จากสื่อวีดีโอhttps://www.youtube.com  และใช้สื่อการสอนแผนผังการแต่งเพลงแรป พร้อมยกตัวอย่างให้นักเรียนเข้าใจรูปแบบของแนวเพลงแรปมากขึ้น จากนั้นใช้กระบวนการเรียนรู้แบบกลุ่มและการทำงานเป็นทีมให้นักเรียนไปสืบค้นคำแสลงในปัจจุบันและแนวเพลงแรปที่ตนเองชอบจากสื่อเทคโนโลยีหรือการลงพื้นที่ชุมชนไปศึกษาของดีในท้องถิ่นหรือปัญหาที่อยากนำมาแก้ไขร่วมกันในชุมชน ครูให้นักเรียนแต่ละกลุ่มเลือกเรื่องในการแต่งเพลงแรปของกลุ่มตนเอง โดยเลือกคำคล้องจองมาใช้ตามรูปแบบและสอดคล้องกับเนื้อหา นักเรียนแต่ละกลุ่มช่วยกันแต่งเพลงแรปตามหัวข้อที่เลือก พร้อมสะท้อนข้อคิดในบทเพลง ตัวแทนแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอแนวคิดในการเลือกหัวข้อเพลงแรปของกลุ่มตนเอง พร้อมบอกเหตุผลในการเลือก ซึ่งหัวข้อที่ได้จากนักเรียนแต่ละกลุ่มในการลงพื้นที่ไปศึกษาข้อมูล ได้แก่ บ้านฉัน ต่อต้านยาเสพติด ของดีบางกระบือ

ขั้นตอนที่ 3: วางแผนพัฒนาตนเองร่วมกัน

เมื่อนักเรียนลงพื้นที่ในชุมชนไปสำรวจปัญหาและของดีในชุมชน เพื่อใช้ในการแต่งเพลงแรปของกลุ่มตนเองแล้วนั้น ครูให้นักเรียนนำหัวข้อที่ได้มาศึกษาร่วมกันภายในกลุ่มถึงความจริงที่เกิดขึ้นจากปัญหา ข้อคิดเห็นที่ใช้ในการแก้ปัญหาร่วมกัน นำความรู้ที่ได้รับในการใช้คำคล้องจอง การใช้ระดับของภาษาที่เหมาะสม และท่วงทำนองของบทเพลงที่นักเรียนไปศึกษา นำมาสร้างนวัตกรรมในเรื่องที่กลุ่มของตนเองสนใจร่วมกัน โดยบทเพลงแรปของนักเรียนจะต้องมีจุดเด่นและสะท้อนข้อคิดที่จะสอนใจผู้อื่นได้ จากนั้นแลกเปลี่ยนเรียนรู้และอภิปรายผลของการเรียนรู้ร่วมกัน เพื่อปรับปรุงและพัฒนางานของแต่ละกลุ่มให้ดีขึ้น

ขั้นตอนที่ 4: เรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง

ครูทบทวนรูปแบบการแต่งเพลงแรปให้นักเรียนทุกกลุ่มและครูเชิญวิทยากรภายนอก คุณครูสุรเชษฐ์ บัวแก้ว โรงเรียนทุ่งสง เจ้าของผลงานเพลงแรปไทยเท่ห์ มาให้ความรู้เรื่องการแต่งเพลงแรป และร้องเพลงแรปผลงานของตนเองให้นักเรียนฟังเป็นตัวอย่าง การแบ่งกลุ่มของนักเรียนใช้ความแตกต่างของผู้เรียนในการจัดกลุ่ม เพราะนักเรียนจะมีความสามารถที่แตกต่างกันในการเรียน ครูจะกำหนดหน้าที่ในการรับผิดชอบของแต่ละกลุ่ม เช่น ผู้แต่งเพลง ผู้ร้อง ผู้ใส่ท่วงทำนอง และผู้ร่วมพัฒนาผลงาน โดยภายในกลุ่มจะต้องมีครบทุกหน้าที่ที่ครูกำหนดให้นักเรียนจึงแบ่งกลุ่มตามความสนใจของตนเองและทุกกลุ่มจะมีสมาชิกครบทุกหน้าที่ไม่ซ้ำกัน ช่วยให้แต่ละกลุ่มช่วยกันทำงานด้วยความสามัคคีและระบบการทำงานกลุ่มดียิ่งขึ้น นักเรียนแต่ละกลุ่มนำข้อมูลที่สืบค้นจากชุมชน ท้องถิ่น สื่ออินเตอร์เน็ต มาใช้ในการสร้างนวัตกรรม ครูให้กระดาษบรู๊ฟและแผ่นฟิวเจอร์บอร์ดแก่นักเรียนทุกกุล่ม โดยนักเรียนเขียนผลงานเพลงแรปของนักเรียนลงในกระดาษบรู๊ฟ แต่ละกลุ่มช่วยกันเขียนและตกแต่งเพลงแรปของกลุ่มตนเองในกระดาษ จากนั้นร่วมกันนำเสนอเพลงแรปของกลุ่มของตนเองหน้าชั้นเรียน ครูและวิทยากรช่วยกันให้คำแนะนำเพื่อพัฒนาผลงานเพลงให้สมบูรณ์มากขึ้น เพื่อนำไปจัดทำคลิปวีดีโอการร้องเพลงแรปของแต่ละกลุ่มต่อไป

ขั้นตอนที่ 5: ผู้เรียนประเมินตนเอง

นักเรียนแต่ละกลุ่มสะท้อนข้อคิดที่นำเสนอในเพลงแรปของกลุ่มตนเองและจะเกิดการเปลี่ยนแปลงต่อชุมชนและประเทศอย่างไรบ้าง จากนั้นทำแบบทดสอบความรู้พื้นฐานในเรื่อง ระดับภาษา โดยใช้การตั้งคำถามตามระดับขั้นของบลูม ผลจากการประเมินทำให้ผู้เรียนตอบคำถามและประมวลผลความรู้จากการเรียนรู้ของตนเองได้ดีขึ้น โดยนักเรียนเขียนสรุปความรู้ที่ได้รับและสามารถประยุกต์และนำความรู้ไปใช้ได้   ผ่านเกณฑ์ ร้อยละ ๘๐

ขั้นตอนที่ 6: คิดต่อยอดองค์ความรู้

            การจัดการเรียนรู้โดยใช้กระบวนการกลุ่มที่เกิดขึ้นพบว่า ผู้เรียนมีทักษะในการใช้กระบวนการคิด  กล้าแสดงออก และเกิดความคิดที่สร้างสรรค์ถ่ายทอดผ่านวัจนภาษาและอวัจนภาษา ทำให้เกิดแนวทางในการต่อยอดชิ้นงานเป็นการแต่งเพลงแรปรายบุคคลตามความสนใจของผู้เรียนและใช้ท่วงทำนองในการร้องเพลงเป็นจังหวะมากขึ้น นักเรียนสามารถผลิตนวัตกรรมเพลงแรปของตนเองที่มีคุณธรรมหรือข้อคิดถ่ายทอดผ่าน บทเพลงคนละ 1 ผลงานเพลง และบันทึกเป็นวีดีโอเพลงถ่ายทอดความรู้แก่ผู้อื่น นอกจากนั้นทำให้ผู้เรียนมีความรู้สึกเป็นเจ้าของการเรียนรู้และนวัตกรที่สร้างนวัตกรรมด้วยตนเอง โดยมีครูเป็นผู้คอยแนะนำและอยู่เบื้องหลังกระบวนการเรียนรู้ของนักเรียน

การจัดการเรียนรู้

ประสบการณ์โลก

นวัตกรรม

การเรียนรู้เชิงรุก

บทความอื่นๆ