นวัตกรรมบอร์ดเกมเพื่อองค์ความรู้รายวิชาโภชนาการ
ผู้ช่วยศาสตราจารย์วสุนธรา รตโนภาส
วิชา โภชนาการสาธารณสุข ระดับ ปริญญาตรี หน่วยงาน มหาวิทยาลัยราชภัฏกําแพงเพชร
แรงบันดาลใจในการสร้างเกม
เนื้อหาในการสอนของสาระการเรียนที่เกี่ยวข้องกับการจัดอาหารที่สําหรับบุคคลวัยต่าง ๆ โภชนาการตลอดช่วงชีวิต อาทิเช่น หญิงตั้งครรภ์ หญิงให้นมบุตร วัยทารก วัยก่อนเรียน วัยเรียน วัยรุ่น วัยผู้ใหญ่ ตลอดจนวัยผู้สูงอายุ โดยปกติจะใช้วิธีการบรรยาย กิจกรรมนําเสนอหน้าชั้นเรียน ซึ่งนักศึกษาคุ้นเคยอยู่แล้ว เพื่อดึงดูดความสนใจ สนุก และได้รับความรู้ในอีกรูปแบบ รวมทั้งมีการพัฒนาต่อยอดมาจากบอร์ดเกมที่ใช้เดิมและนักศึกษาสนุก และชื่นชอบ จึงเป็นที่มาของการพัฒนา
Lesson Plan
ประเภท และคุณสมบัติของสารอาหารชนิดต่าง ๆ ความต้องการอาหารและสารอาหาร วิธีจัดอาหารสําหรับบุคคลวัยต่าง ๆ ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับโภชนบําบัด ภาวะทุพโภชนาการและการเฝ้าระวังที่เป็นปัญหาโภชนาการของประเทศไทย การสํารวจประเมินสภาวะโภชนาการในชุมชน และแนวทางการป้องกันและแก้ไขปัญหาโภชนาการในชุมชน
วิธีการเล่นเกม / ขั้นตอนการเล่น
1. ขั้นนํา
1.1 อาจารย์อธิบายวัตถุประสงค์ของการใช้บอร์ดเกม
1.2 อธิบายรายละเอียดของอุปกรณ์ของบอร์ดเกม กติกา วิธการเล่น และการตัดสิน
2. ขั้นเล่นเกม
2.1 เลือกผู้เล่นก่อนหลังโดยใช้แต้มของการโยนเต๋า
2.2 ใช้ผู้เล่น 4 คน เมื่อทราบลําดับการเล่น อาจารย์มอบอุปกรณ์ประกอบการเล่นดังนี้
2.2.1 โมเดลสําหรับวาง Landmark 4 ชิ้น/คน
2.2.2 โมเดลแทนตัวผู้เล่น2.2.3 กระดาษ A4 ที่มีแต้ม 50 แต้ม
2.2.4 ใบความรู้ที่มีข้อมูลเกี่ยวกับโภชนาการสําหรับผู้สูงอายุ จํานวน 70 ข้อ
2.3 การเล่นจะใช้เวลา 20 นาที/เกม จับเวลาหลังจากเลือกผู้เล่น และรับอุปกรณ์เรียบร้อยแล้ว
2.4 วิธีการเล่นในแต่ละครั้งผู้เล่นจะต้องเปิดการ์ดความรู้ เพื่อจดเฉพาะบันทึกตัวเลขบนการ์ดลงกระดาษ A4 ของตนเอง พร้อมบวก หรือลบแต้มคะแนน ตามคําสั่งของบอร์ดหรือการ์ด หากโยนเต๋าตกช่อง special ให้หยิบการ์ด special จากกอง 1 ใบ และทําตามคําสั่งของการ์ด หากมีการบวก หรือลบแต้มคะแนน ให้บันทึกลงบนกระดาษ A4 ทุกครั้งที่เล่น
2.5 ความพิเศษของการเปลี่ยนการ์ดที่หยิบได้ให้เป็นแต้ม
2.5.1 สะสมการ์ดความรู้คุณตา/คุณยาย เหมือนกัน 3 ใบ และได้ 20 แต้ม
2.5.2 ขายการ์ด special คืนกองกลางหากเล่น แล้วหมด ใบละ 10 แต้ม
2.6 กติกาการแพ้ หรือชนะ ผู้เล่นจะแพ้ก็ต่อเมื่อ
2.6.1 ผู้เล่นจะแพ้เมื่อแต้มหมดก่อน
2.6.2 ผู้เล่นจะแพ้เมื่อมีผู้ร่วมเล่นวาง Landmark ครบ 4 ช่อง
2.6.3 หากเวลาหมด 20 นาที ให้ตัดสินโดยนับแต้มที่สูงสุดของทุกคนที่เป็นผู้เล่น ผู้ที่มีคะแนนรวมสูงสุดถือว่าชนะในเกมนั้น ๆ
2.7 การยุติเกม จะเกิดขึ้นได้ในกรณีการ์ดความรู้หมด ก่อน 20 นาที หรือมีผู้ชนะ
3. ขั้นสรุป
3.1 เมื่อได้ผู้ชนะ ผู้ชนะมีสิทธิให้ผู้ที่มีคะแนนน้อยกว่าใคร ก็ได้ที่เล่น อ่านความรู้จากใบความรู้ให้ตรงกับเลขของการ์ดความรู้ที่ตนเองหยิบได้ในตอนเล่นที่ผ่านมา และคนสุดท้ายคือผู้ชนะเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลกัน
3.2 อาจารย์สรุปเนื้อหาบทเรียน และอภิปรายร่วมกับนักศึกษา
คุณลักษณะของผู้เรียนในห้องเรียนที่ใช้บอร์ดเกม แตกต่างจากการเรียนการสอนปกติอย่างไรบ้าง
โดยปกติการจัดการเรียนการสอนในเนื้อหาของรายวิชาโภชนาการสาธารณสุขในส่วนนี้ใช้รูปแบบการนําเสนอเนื้อหา ประกอบการสาธิตผ่านกระบวนการกลุ่ม การใช้บอร์ดเกมทําให้นักศึกษาสนใจ และสนุกกับกติกา การเล่นเกม และการได้รับข้อมูลความรู้อีกรูปแบบหนึ่ง
บทสัมภาษณ์ผู้เรียนตัวอย่าง 2 คนจากการใช้บอร์ดเกม
นักศึกษาคนที่ 1 นางสาวดารัตน์นี มโนมัย
การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทําให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างไร หรือ มีข้อดีต่อการเรียนรู้ของเราอย่างไร
จากการทดลองเล่นเกม ดิฉันคิดว่าการเล่นบอร์ดเกมครั้งนี้ ทําให้จําเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับบทเรียนได้ดีขึ้น และดิฉันรู้สึกสนุก และผ่อนคลายเวลาเล่นเกม และได้พูดคุยกับเพื่อน ๆ นอกจากนี้ดิฉันชอบในส่วนการสรุปที่ให้เพื่อน ๆ ที่แข่งขันกันช่วยอ่านเนื้อหา รวมทั้งตัวดิฉันเองอ่านเนื้อหาจากการ์ดความรู้ให้เพื่อนฟัง ทําให้ช่วยในการจํามากยิ่งขึ้น
อธิบายสิ่งที่อยากให้ครูพัฒนาในบอร์ดเกมที่ได้เล่น
จากการทดลองเล่นเกม ดิฉันอยากให้อาจารย์เพิ่มการ์ด special ให้มีความหลากหลายมากยิ่งขึ้น เพื่อทําให้เกมเดินไวและจบเร็วขึ้น
นักศึกษาคนที่ 2 นางสาวศิริพร แดนแก้ว
อธิบายสิ่งที่อยากให้พัฒนาในบอร์ดเกมที่ได้เล่น
จากการทดลองเล่นเกม ดิฉันอยากให้อาจารย์ใช้กระดาษพิมพ์การ์ดที่ไม่ทําให้การ์ดหยิบยาก และปรับขนาดของตัวหนังสือ เพื่อให้อ่านง่ายขึ้น
การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทําให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างไร หรือ มีข้อดีต่อการเรียนรู้ของเราอย่างไร
จากการทดลองเล่นเกม ดิฉันคิดว่าตัวดิฉันเองรู้สึกลุ้นไปกับการโยนลูกเต๋า และการอยู่ในกติกาของบอร์ดเกมรวมทั้งดิฉันชอบสีสันของการ์ดและรูปภาพที่ทําให้ดิฉันเข้าใจ และจดจําเนื้อหาได้ดียิ่งขึ้น