บอร์ดเกม KIDSFLOW วิชาวิทยาการคำนวณ

ศรัณย์ ภู่นพคุณ
ศรัณย์ ภู่นพคุณ
365 ผู้ชม

แบบสรุปการนำบอร์ดเกมไปใช้ในห้องเรียน สพป. พิจิตรเขต 1

ชื่อ – นามสกุลครู นายศรัณย์ ภู่นพคุณ    สาระวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี(วิทยาการคำนวณ)

แผนการเรียนรู้ หน่วยที่ 1 การแก้ปัญหา เรื่อง การใช้เหตุผลเชิงตรรกะ

ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6  โรงเรียนวัดราชช้างขวัญ

 

ประเด็นที่ 1 คำอธิบายแผนการเรียนรู้ / แรงบันดาลใจในการสร้างเกม

          การจัดทำแผนการจัดการเรียนรู้โดยการใช้นวัตกรรมบอร์ดเกมในการเรียนรู้ครั้งนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากการสังเกตเห็นนักเรียนชอบเล่นเกมในเวลาว่าง ครูผู้สอนจึงมีความคิดว่าหากนำความรู้จากบทเรียนมาทำเป็นรู้แบบของเกม น่าจะทำให้นักเรียนสนใจเนื้อหาการเรียนมากยิ่งขึ้น และช่วยให้นักเรียนมีความสุข สนุกกับการเรียนรู้  ครูจึงได้จัดทำแผนการเรียนรู้โดยใช้บอร์ดเกม “KIDSFLOW” ขึ้น ซึ่งเป็นเนื้อหาการเรียนรู้เกี่ยวกับวิชาวิทยาการคำนวณ เรื่อง การใช้เหตุผลเชิงตรรกะ


             

ประเด็นที่ 2  วิธีการเล่นเกม / ขั้นตอนการเล่น

กติกาการเล่นเกม

ขั้นตอนการตรียมก่อนเล่นเกม

1. ผู้เล่นเลือกตัวละคร คนละ 1 ตัวละคร

2. ผู้เล่นรับเหรียญจากกองกลางคนละ 5 เหรียญ

3. ให้ผลัดกันทอยลูกเต๋าคนละ 1 ครั้ง คนที่ได้แต้มเยอะที่สุดจะได้เป็นผู้เล่นคนแรก แล้วให้ผู้เล่นที่อยู่ซ้ายมือเป็นผู้เล่นคนถัดไปวนจนครบทุกคน

4. หากมีผู้เล่นที่ได้คะแนนสูงสุดมากกว่า 1 คน ให้ทอยลูกเต๋าใหม่คนละครั้ง เพื่อหาคนที่ได้คะแนนสูงที่สุดเพียงคนเดียว

ขั้นตอนการเล่นเกม

5. ให้ผู้เล่นทอยลูกเต๋า 1 ครั้ง แล้วเดินตัวละครวนไปทางซ้ายตามจำนวนที่ทอยลูกเต๋าได้

6. เปิดการ์ดสถานการณ์ในช่องที่ตัวละครหยุดอยู่ แล้วตอบคำถามว่าสถานการณ์ตามการ์ดควรใช้กับสัญลักษณ์ผังงานชนิดใด ถ้าตอบถูกจะได้สัญลักษณ์ผังงานชนิดนั้น 1 ชิ้น และให้เก็บการ์ดใบนั้นไว้ แต่หากตอบผิด ต้องจ่ายเหรียญเข้ากองกลาง 1 เหรียญ และวางการ์ดใบนั้นไว้ที่เดิม

7. หากเดินไปหยุดอยู่ในช่องการ์ดความรู้ ให้ผู้เล่นเปิดการ์ดความรู้ 1 ใบ แล้วอ่านให้ผู้เล่นทุกคนฟัง

8. หากเดินไปหยุดอยู่ช่องเทวดา สามารถทอยลูกเต๋าเพิ่มได้ 1 ครั้ง

9. หากเดินไปหยุดอยู่ช่องเสี่ยงดวง ผู้เล่นสามารถเปิดการ์ดเสี่ยงดวง 1 ใบ แล้วอ่านให้ผู้เล่นคนอื่นฟัง

10. หากเดินไปหยุดอยู่ช่องกรงขัง ผู้เล่นจะต้องหยุดเดิน 1 ตา

11. หากผู้เล่นคนใดเหรียญไม่มีเหรียญพอสำหรับจ่ายเข้ากองกลางหรือผู้เล่นคนอื่น ให้ถือว่าผู้เล่นคนนั้นแพ้และให้ออกจากเกม

12. เมื่อผู้เล่นเดินครบรอบกลับมาสู่จุดเริ่มต้น จะได้รับเหรียญจากกองกลางคนละ 5 เหรียญ

ขั้นตอนการจบเกม

13. ผู้เล่นที่สามารถเก็บการ์ดสถานการณ์ที่เป็นเรื่องเดียวกัน นำมาต่อเป็นผังงานได้ถูกต้องคนแรกจะเป็นผู้ชนะ และเกมจะสิ้นสุดทันที

14. เมื่อการ์ดสถานการณ์หมดให้ถือว่าเกมสิ้นสุด แล้วทำการนับเหรียญของผู้เล่นแต่ละคน โดยแต่ละเหรียญจะมีคะแนน 5 คะแนน และนับจำนวนการ์ดที่ผู้เล่นแต่ละคนตอบได้ถูกต้อง โดยการ์ดแต่ละใบจะมีคะแนนใบละ 10 คะแนน ผู้เล่นคนใดได้คะแนนมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

15. เมื่อครบกำหนดเวลาการเล่นเกมให้ถือว่าเกมสิ้นสุด แล้วทำการนับเหรียญของผู้เล่นแต่ละคน โดยแต่ละเหรียญจะมีคะแนน 5 คะแนน และนับจำนวนการ์ดที่ผู้เล่นแต่ละคนตอบได้ถูกต้อง โดยการ์ดแต่ละใบจะมีคะแนนใบละ 10 คะแนน ผู้เล่นคนใดได้คะแนนมากที่สุดจะเป็นผู้ชนะ

       

ภาพบอร์ดเกมที่ได้รับการสนับสนุนจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา (กสศ.) ที่ได้จัดพิมพ์

บอร์ดเกมกับโรงเรียนวัดราชช้างขวัญ สพป.พิจิตร เขต 1 จํานวน 3 บอร์ด



ประเด็นที่ 3 คุณลักษณะของผู้เรียนในห้องเรียนที่ใช้บอร์ดเกม แตกต่างจากการเรียนการสอนปกติอย่างไรบ้าง

          จากการจัดการเรียนการสอนโดยใช้บอร์ดเกม “KIDSFLOW” จะเห็นได้ว่านักเรียนมีความสนใจ ใฝ่รู้ในการเรียนการสอนมากกว่าการเรียนจากตำราเรียนเท่านั้น เนื่องจากนักเรียนมีกิจกรรมที่ชื่นชอบเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการเรียนรู้ด้วยซึ่งก็คือการเล่นเกม นอกจากนี้นักเรียนยังได้ฝึกทักษะการสื่อสาร การทำงานเป็นทีมจากการที่นักเรียนร่วมกันอ่านการ์ดความรู้ พูดคุยเกี่ยวกับการเล่นเกม ซึ่งทำให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้ร่วมกันในกิจกรรม



       


       

ภาพกิจกรรมการเล่นบอร์ดเกม “KIDSFLOW” ของนักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6


ประเด็นที่ 4 สัมภาษณ์ผู้เรียนตัวอย่าง 2 คน


เด็กหญิงศิศิลป์ ยังประโยชน์

นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6


-  การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทำให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างไร หรือ มีข้อดีต่อการเรียนรู้ของเราอย่างไร

          การที่ได้เรียนรู้จากบอร์ดเกม ทำให้หนูรู้สึกไม่น่าเบื่อ เพราะได้ทั้งความรู้ ความสนุก และได้เล่นกับเพื่อน ๆ ค่ะ

-  อธิบายสิ่งที่อยากให้ครูพัฒนาในบอร์ดเกมที่ได้เล่น

หนูอยากให้ครูเพิ่มลูกเต๋าจาก 1 ลูก เป็น 2 ลูก ค่ะ เพราะหนูเดินไม่ครบรอบสักที แล้วก็ให้มีกับดักหรือการ์ดพิเศษเยอะขึ้นอีก จะได้ช่วยขัดขวางคนที่กำลังจะชนะได้บ้าง


เด็กหญิงกมลวรรณ เพ็ชรล้อมทอง

นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6


-  การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทำให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างไร หรือ มีข้อดีต่อการเรียนรู้ของเราอย่างไร

          หนูได้เรียนรู้เรื่องการต่อผังงาน สัญลักษณ์แบบต่าง ๆ จากการเล่นเกม ทำให้รู้มากขึ้นว่าต้องต่อยังไง ได้เรียนรู้จากเพื่อนด้วย และหนูคิดว่าเกมนี้คนที่ไม่เคยเรียนก็น่าจะเล่นได้ จากความรู้ที่ได้ในเกม สนุกมากค่ะ

-  อธิบายสิ่งที่อยากให้ครูพัฒนาในบอร์ดเกมที่ได้เล่น

อยากให้เพิ่มการ์ดที่ใช้ขัดขวางเพื่อน หรือแย่งการ์ดจากเพื่อนได้ จะได้ตื่นเต้น ได้แข่งขันกับเพื่อนมากขึ้นค่ะ

พัฒนาทักษะการคิด

คิดเชิงเหตุผล

การเรียนรู้

นวัตกรรมบอร์ดเกม

การเรียนรู้เชิงรุก

บอร์ดเกม

Active Learning

ชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

วิทยาการคำนวณ

flowchart

ผังงาน

บทความอื่นๆ