การจัดการเรียนการสอนโดยใช้บอร์ดเกมนักแยกสาร วิทยาศาสตร์ ป.6

ณัฐณิชา อินสุวรรณ
ณัฐณิชา อินสุวรรณ
2,950 ผู้ชม

แบบสรุปการนำบอร์ดเกมไปใช้ในห้องเรียน สพป. พิจิตร เขต 1

ชื่อ - นามสกุลครู นางสาวณัฐณิชา  อินสุวรรณ    ชื่อแผนการเรียนรู้ นักแยกสาร

สาระวิชา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี    ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6    โรงเรียน วัดหนองหลวง

 

ประเด็นที่ 1 คำอธิบายแผนการเรียนรู้ / แรงบันดาลใจในการสร้างเกม

          ปัจจุบันสื่อการสอนเข้ามามีบทบาทในการเรียนการสอนมากยิ่งขึ้น และมีแนวโน้มว่าวิธีการเรียนรู้ของผู้เรียนนั้นมีการเปลี่ยนแปลงซึ่งเหมาะสมสำหรับจัดการเรียนรู้โดยยึดผู้เรียนเป็นสำคัญ แทนการเน้นตัวผู้สอน ซึ่งการนำสื่อมาช่วยในการเรียนการสอนทำให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้และทบทวนได้ด้วยตนเองอย่างไม่มีข้อจำกัดและส่งผลให้ผู้เรียนเข้าใจเนื้อหาได้ดีขึ้น และสอดคล้องกับการศึกษาในยุคปัจจุบัน จึงส่งผลให้ต้องครูผู้สอนหาแนวทางในการปรับปรุงการจัดการเรียนการสอนให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและต้องจัดประสบการณ์การเรียนรู้ให้มีประสิทธิภาพและเสริมสร้างศักยภาพผู้เรียนทุกด้าน ผู้สอนมีแนวคิดว่า สื่อหรือนวัตกรรมที่เหมาะสมและมีประสิทธิภาพสามารถพัฒนาให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้และบรรลุเป้าหมายการเรียนรู้ในเวลาอันรวดเร็วและเป็นเครื่องมือในการยกระดับผลสัมฤทธิ์ของผู้เรียนสูงขึ้น

          จากการวิเคราะห์ปัญหาในการจัดการเรียนรู้รายวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ซึ่งพบว่านักเรียนส่วนมากไม่สามารถแยกสารและอธิบายวิธีการแยกโดยการหยิบออก การร่อน การระเหิด การใช้แม่เหล็กดึงดูด การรินออก การกรอง และการตกตะกอน ในสารต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้อง

          ครูผู้สอนจึงคิดการแก้ปัญหาโดยการออกแบบเครื่องมือหรือสื่อที่ช่วยให้ผู้เรียนจดจำการแยกสารและสามารถอธิบายวิธีการแยกสารประเภทต่าง ๆ ได้อย่างถูกต้องโดยเลือกใช้บอร์ดเกมเพื่อการศึกษาเป็นสื่อในการจัดการเรียนการสอน เนื่องจากเกมช่วยให้ผู้เรียนมีแรงจูงใจช่วยให้เกิดพฤติกรรมการเรียนรู้ เพลิดเพลิน สนุกกับการเรียน อีกทั้งเกมยังช่วยส่งเสริมพัฒนาการด้านอารมณ์ สติปัญญา สังคม รู้จักคิดหาเหตุผล รู้จักการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า เกิดความคิดริเริ่มสร้างสรรค์ และช่วยในการจดจำเนื้อหาบทเรียนได้ดียิ่งขึ้น


  
 


ประเด็นที่ 2  วิธีการเล่นเกม / ขั้นตอนการเล่น 

1.      จำนวนผู้เล่น 2-4 คน ต่อ 1 กลุ่ม สุ่มการ์ดตัวละครโดยตัวละครจะมีความรู้เรื่องการแยกสารแตกต่างกัน และวางโมเดลตัวละครที่สุ่มได้ลงบนบอร์ดเกม

2.      ผู้เล่นร่วมกันวางการ์ดสถานการณ์ การ์ดเสี่ยงทาย การ์ดคลังความรู้ เหรียญ ตัวละคร ลงบนบอร์ดเกม

3.      ผู้เล่นจะได้เหรียญเริ่มเกมคนละ 10 เหรียญ (1 เหรียญมีค่าเท่ากับ 5 คะแนน)

4.      นักเรียนสุ่มแต้มลูกเต๋า ผู้เล่นที่มีแต้มมากสุดได้เล่นก่อนตามลำดับ

5.      ผู้เล่นวางตัวเดินที่จุดเริ่มต้น ทอดลูกเต๋า 2 ลูก  ได้จำนวนเท่าไหร่ ให้เดินไปข้างหน้าตามจำนวนนั้น

6.      หากเดินไปตกที่ช่องการ์ดสถานการณ์ใด ให้นักเรียนตอบคำถามเกี่ยวกับการแยกสาร ถ้าตอบถูกจะได้คะแนนตามที่ระบุบนการ์ด ถ้าตอบผิดเสียคะแนน และเมื่อตอบถูกจะต้องจั่วการ์ดสถานการณ์ใบใหม่   มาวางทับแทนที่ใบเดิม

7.      หากเดินตกในช่องเสี่ยงทาย จะได้สิทธิ์จับการ์ดเสี่ยงทาย 1 ใบ โดยสามารถใช้การ์ดป้องกันการเสียคะแนน, การ์ดเพิ่มคะแนน, การ์ดหยุดเดิน 1 รอบ, การ์ดเพื่อนให้คะแนน, การ์ดให้คะแนนเพื่อน ใช้ได้ 1 ครั้ง

8.      เมื่อเดินตกในช่องคลังความรู้ จะได้สิทธิ์จับการ์ดความรู้ 1 ใบ อ่านความรู้เรื่องการแยกสารให้เพื่อนฟังและได้คะแนนเพิ่มตามที่ระบุบนการ์ด

9.      หากเดินตกช่องเกาะร้าง ผู้เล่นจะต้องหยุดเดิน 1 เกม

10.  หากเดินตกช่องสร้าง Landmark ตึกวิทยาศาสตร์ ผู้เล่นสามารถวางโมเดลบ้านของตนเองได้ 1 หลังบนพื้นที่นั้น

11.  ผู้เล่นคนใดได้คะแนนครบ 100 คะแนนก่อนจะเป็นผู้ชนะ หรือเมื่อผู้เล่นสร้าง Landmark ครบ 3 หลัง จะเป็นผู้ชนะ หรือเมื่อเล่นครบเวลาที่กำหนด ผู้เล่นที่มีคะแนนสะสมสูงที่สุดเป็นผู้ชนะ

12.  ผู้เล่นที่คะแนนเหลือ 0 แต้ม จะถูกปรับแพ้เกมในทันที


ประเด็นที่ 3 คุณลักษณะของผู้เรียนในห้องเรียนที่ใช้บอร์ดเกม แตกต่างจากการเรียนการสอนปกติอย่างไรบ้าง 

1.      มุ่งมั่นในการทำงาน นักเรียนมีการศึกษารายละเอียดและวิธีการเล่นเกมอย่างกระตือรือร้น มีความมานะ พยายาม สามารถเล่นเกมจนจบได้สำเร็จ

2.      ซื่อสัตย์ นักเรียนสามารถปฏิบัติตามข้อตกลงของกลุ่ม และของกิจกรรมการเรียนรู้ได้

3.      ความมีจิตสาธารณะ นักเรียนมีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันภายในกลุ่ม ช่วยเหลือเพื่อนในการอ่าน และการคำนวณในกิจกรรมการเรียนรู้

  


ประเด็นที่ 4 สัมภาษณ์ผู้เรียนตัวอย่าง 2 คน 

เด็กหญิงพรนิภา สว่างจิตร  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

1. การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทำให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างไร หรือ มีข้อดีต่อการเรียนรู้ของเราอย่างไร

    “การเล่นเกมทำให้สามารถจำเนื้อหาได้ดีขึ้นมาก เพราะการเรียนแบบปกติทำให้ลืมง่าย อีกทั้งการเรียนผ่านบอร์ดเกมยังส่งผลให้คะแนนสอบดีขึ้นอีกด้วย”

 

2.  อธิบายสิ่งที่อยากให้ครูพัฒนาในบอร์ดเกมที่ได้เล่น

    “อยากให้เพิ่มการ์ดสถานการณ์ และการ์ดเสี่ยงทาย”



เด็กชายบวรรัตน์ แหนมเชย  นักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

1. การเรียนผ่านบอร์ดเกม ทำให้เราเข้าใจบทเรียนได้มากขึ้นอย่างไร หรือ มีข้อดีต่อการเรียนรู้ของเราอย่างไร

    “สนุกกับการเรียน ช่วยทำให้จำเนื้อหาได้มากขึ้น และทำให้เข้าใจบทเรียนได้มากขึ้น”

 

2.  อธิบายสิ่งที่อยากให้ครูพัฒนาในบอร์ดเกมที่ได้เล่น

    “อยากให้มีบอร์ดเกมในรายวิชาอื่น ๆ"

นวัตกรรม

นวัตกรรมบอร์ดเกม

การเรียนรู้เชิงรุก

Active Learning

สื่อ

บทความอื่นๆ