การจัดการเรียนรู้ เรื่อง การวัดความยาวเป็นเซนติเมตรและมิลลิเมตร โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 5E

จุฑามาศ กัลยา
จุฑามาศ กัลยา
185 ผู้ชม

จุฑามาศ  กัลยา

ครูผู้ช่วย โรงเรียนบ้านห้วยกั้ง อำเภอจุน จังหวัดพะเยา

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาพะเยา เขต 2

 

การเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้ 5 ขั้นตอน (The 5 E’s of Inquiry-Based Learning) เป็นรูปแบบของการเรียนรู้ที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ เน้นให้ผู้เรียนมีประสบการณ์ตรงในการเรียนรู้ โดยการแสวงหาและศึกษาค้นคว้า เพื่อสร้างองค์ความรู้ของตนเอง ซึ่งมีครูผู้สอนคอยอำนวยการและสนับสนุน ทำให้ผู้เรียนสามารถค้นพบความรู้หรือแนวทางแก้ปัญหาได้ตัวเอง และสามารถนำมาใช้ในชีวิตประจำวัน โดยเปิดโอกาสให้ผู้เรียนได้นำความรู้ หลักการ แนวคิดหรือทฤษฎีทางวิทยาศาสตร์ไปเชื่อมโยงกับประเด็นปัญหาที่ผู้เรียนสนใจศึกษา ค้นคว้า และลงมือปฏิบัติด้วยตนเองตามความสามารถและความถนัดของตนเองอย่างเป็นอิสระ โดยมีขั้นตอนการจัดการเรียนรู้ ดังนี้ 1. การสร้างความสนใจ (Engagement) 2. การสำรวจและค้นหา (Exploration) 3. การอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation) 4. การขยายความรู้ (Elaboration) และ 5. การประเมินผล (Evaluation)

จากลักษณะของรูปแบบการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 5E ทำให้ครูผู้สอนเลือกจัดการเรียนรู้โดยใช้รูปแบบการเรียนการสอนนี้ เพื่อช่วยส่งเสริมและพัฒนาทักษะและกระบวนการทางคณิตศาสตร์ที่จำเป็นหลายทักษะ รวมถึงสมรรถนะสำคัญของผู้เรียน ให้ผู้เรียนสามารถนำคณิตศาสตร์ไปปรับใช้ในชีวิตประจำวันของผู้เรียนได้อย่างมีประสิทธิภาพ

ในการเรียนรู้เรื่องการวัดความยาวเป็นเซนติเมตรและมิลลิเมตร ของผู้เรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 จะมุ่งให้ผู้เรียนได้องค์ความรู้ในการบอกความยาวหรือความสูงของสิ่งต่าง ๆ โดยการบอกเป็นเซนติเมตรและมิลลิเมตร ซึ่งจะใช้ไม้บรรทัดในการวัดและมีวิธีการวัด โดยให้ปลายด้านหนึ่งของสิ่งของเริ่มวัดจาก 0 และบอกความยาวหรือความสูงจากปลายอีกด้านหนึ่ง ทั้งนี้ผู้เรียนยังจะได้เรียนรู้ว่าความยาว 1 เซนติเมตร เท่ากับความยาว 10 มิลลิเมตร

1. การสร้างความสนใจ (Engagement) เป็นขั้นของการนำเข้าสู่บทเรียน ซึ่งอาจเกิดขึ้นจากความสงสัยหรือความสนใจของผู้เรียนเอง โดยครูผู้สอนมีหน้าที่กระตุ้นให้ผู้เรียนเกิดความสนใจใคร่รู้ในเนื้อหานั้น ซึ่งอาจมาจากการยกตัวอย่างสถานการณ์ที่เชื่อมโยงกับชีวิตหรือสิ่งรอบตัวของผู้เรียน ที่จะทำให้ผู้เรียนเข้าถึงและสนใจใฝ่หาคำตอบด้วยตนเองมากขึ้น

ในขั้นการสร้างความสนใจนี้ ครูผู้สอนใช้วิธีการให้ผู้เรียนได้ทดลองวัดความยาวด้วยตนเองก่อนที่จะมีการสอน โดยผู้เรียนจะได้รับกระดาษคนละ 1 เส้น และให้ผู้เรียนใช้ไม้บรรทัดของตนเองวัดความยาวของกระดาษให้ได้ 12 เซนติเมตร 8 มิลลิเมตร

ในขั้นนี้ผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนรู้สึกกระตือรือร้นและเกิดความสงสัยในเรื่องของการใช้ไม้บรรทัดในการวัด อีกทั้งยังต้องการที่จะทราบความรู้พื้นฐานของ ผู้เรียน หลังจากที่ให้ผู้เรียนได้ลองทำเห็นได้ชัดว่าผู้เรียนทุกคนให้ความสนใจในการวัดกระดาษ พยายามใช้ไม้บรรทัดวัดให้ได้ความยาวตามที่กำหนด ผู้เรียนแต่ละคนจะจดจ่ออยู่กับสิ่งที่ตนเองได้ทำมีบางคนที่วัดได้อย่างถูกต้องตามหลักการ แต่บางคนก็ยังไม่มีความรู้พื้นฐานที่แน่นพอ แต่ในขั้นนี้ผู้สอนมิได้คำนึงถึง            ความถูกผิดมากนัก จึงยังมิได้มิการจำกัดแนวคิดของผู้เรียน ทำให้เกิดแนวคิดเรื่องการใช้ไม้บรรทัดในการวัดที่หลากหลาย




         2. การสำรวจและค้นหา (Exploration) 
เป็นขั้นที่ครูผู้สอนเปิดโอกาสให้ผู้เรียนดำเนินการศึกษาค้นคว้า โดยการรวบรวมข้อมูลด้วยวิธีต่าง ๆ เพื่อนำไปใช้ในการอธิบายและสรุป

ในขั้นสำรวจและค้นหานี้ ครูผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนได้องค์ความรู้อยู่ 3 ประเด็น ได้แก่ องค์ประกอบของไม้บรรทัด หน่วยวัดความยาวเป็นมิลลิเมตร และการใช้ไม้บรรทัด ซึ่งวิธีการเรียนรู้จะเน้นหนักไปที่การใช้คำถามชวนให้คิดและกระตุ้นแนวคิดของผู้เรียน และมีการให้ผู้เรียนลงมือปฏิบัติด้วยตนเองในกิจกรรม  “วัดป่ะล่ะ” ซึ่งกิจกรรมนี้จะให้ผู้เรียนทำหลังจากที่ได้เรียนเรื่องการใช้ไม้บรรทัดในการวัดความยาวมาแล้ว โดยจะให้ผู้เรียนเลือกวัดสิ่งของในชีวิตประจำวันที่ครูกำหนดให้ 3 อย่าง

การใช้คำถามในขั้นนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จ ผู้เรียนมักจะช่วยกันแสดงความคิดของตนเอง และตอบคำถามตามที่ตนเองเข้าใจ เนื่องจากคำถามที่ใช้ไม่ได้มีความยากเกินไปหรือง่ายเกินไป ทำให้ผู้เรียนไม่เบื่อหน่ายที่จะตอบคำถาม อีกทั้งกิจกรรม “วัดป่ะล่ะ” ผู้เรียนยังให้ความสนใจและจดจ่อกับการเรียนรู้จนนำไปสู่การที่ผู้เรียนมีทักษะการใช้ไม้บรรทัดวัดความยาวได้อย่างถูกต้องและแม่นยำยิ่งขึ้น นอกจากนี้ผู้เรียนส่วนใหญ่ยังเข้าใจวิธีการวัดที่มีหน่วยมิลลิเมตรเพิ่มเข้ามาได้แล้ว อาจมีเพียงบางคนที่ครูผู้สอนยังต้องเข้าไปให้ความช่วยเหลือผ่านการใช้คำถาม เช่น ข้อนี้มีความยาวเกิน 10 เซนติเมตรหรือไม่ และที่เกินออกมาเราจะใช้หน่วยใดในการบอกความยาว เป็นต้น ทั้งนี้ผู้เรียนได้ตระหนักทุกครั้งระหว่างทำกิจกรรม “วัดป่ะล่ะ” ว่าจะเริ่มวัดจาก 0 สังเกตได้จากการที่ผู้เรียนพยายามวางไม้บรรทัดให้ปลายข้างหนึ่งของสิ่งของอยู่ตรงกับขีดของเลข 0



3. กาอธิบายและลงข้อสรุป (Explanation) เมื่อผู้เรียนได้ข้อมูลอย่างเพียงพอแล้ว ครูผู้สอนจะให้ผู้เรียนนำข้อมูลมาวิเคราะห์และแปลผล เพื่อสรุปผล

ในขั้นอธิบายและลงข้อสรุปครูผู้สอนจะให้ผู้เรียนออกมานำเสนอแนวคิดและวิธีการวัดความยาวจากกิจกรรม “วัดป่ะล่ะ” และร่วมกันสรุปสิ่งที่เรียนรู้ในวันนี้ผ่านการใช้คำถาม คือ นักเรียนวัดความยาวอย่างไร และเราจะอ่านความยาวจากการวัดอย่างไร

จากการสังเกต ในขั้นนี้ผู้เรียนจะเริ่มตอบคำถามจากความเข้าใจและประสบการณ์ของตนเองที่ได้ลองลงมือปฏิบัติจริง แม้การอธิบายของผู้เรียนจะไม่ได้ใช้คำที่เป็นทางการ แต่ครูผู้สอนสามารถรับรู้ได้ว่าผู้เรียนมีความเข้าใจในเนื้อหาอย่างถ่องแท้ เช่น ในช่องเซนติเมตร แบ่งเป็นช่องเล็ก ๆ อีก 10 ช่อง จะเรียกว่าเป็นช่องมิลลิเมตร ซึ่งครูผู้สอนก็พยายามปรับเปลี่ยนคำพูดเล็กน้อยให้ตรงกับหลักการยิ่งขึ้น และให้ผู้เรียนเรียนรู้ให้ถูกต้องตามหลักการเพื่อนำไปสู่การวัดในหน่วยเซนติเมตรและมิลลิเมตรได้อย่างถูกต้อง



4. การขยายความรู้ (Elaboration) เป็นขั้นของการนำความรู้ที่ได้จากขั้นก่อนหน้านี้มาเชื่อมโยงกับความรู้เดิมหรือใช้อธิบายถึงสถานการณ์หรือเหตุการณ์เกี่ยวข้อง โดยครูผู้สอนจัดกิจกรรมและให้ผู้เรียนมีส่วนร่วมในกิจกรรมนั้น ๆ

ในขั้นนี้ ครูผู้สอนต้องการให้ผู้เรียนสังเกตเห็นถึงความสัมพันธ์ของหน่วยความยาวมิลลิเมตรและเซนติเมตร โดยมีการใช้คำถามกระตุ้น ซึ่งจะเป็นคำถามที่ให้ผู้เรียนได้ย้อนคิดถึงเนื้อหาที่ได้เรียนมาในวันนี้ ได้แก่

- จากการสังเกตไม้บรรทัด ช่องใหญ่ 1 เซนติเมตร มีกี่ช่องเล็ก

- ช่องเล็กแสดงหน่วยการวัดความยาวใด

- ดังนั้น 1 เซนติเมตร มีกี่มิลลิเมตร

แต่พบปัญหาเกี่ยวกับความเข้าใจของผู้เรียน โดยผู้เรียนเข้าใจว่าความยาว 1 เซนติเมตร เท่ากับความยาว 10 มิลลิเมตร แต่เมื่อครูผู้สอนถามว่า “แล้ว 10 มิลลิเมตร มีกี่เซนติเมตร” ผู้เรียนไม่สามารถตอบได้ ครูผู้สอนจึงต้องแก้ปัญหาโดยการย้อนถามกลับกันอีกหนึ่งรอบ คือ

- จากการสังเกตไม้บรรทัด 10 มิลลิเมตร มีความยาวเท่ากับกี่ช่องใหญ่

- ช่องใหญ่แสดงความยาวในหน่วยใด

- ดังนั้น 10 มิลลิเมตรจะเท่ากับกี่เซนติเมตร

ซึ่งท้ายที่สุดแล้วผู้เรียนก็สามารถเข้าใจและบอกได้ว่าความยาว 1 เซนติเมตร เท่ากับความยาว 10 มิลลิเมตรและความยาว10 มิลลิเมตร เท่ากับความยาว เซนติเมตร

5. การประเมินผล (Evaluation) เป็นขั้นของการประเมินการเรียนรู้ด้วยกระบวนการต่าง ๆ เพื่อตรวจสอบผู้เรียนว่ามีความรู้ที่ถูกต้องมากน้อยเพียงใด

ในขั้นนี้ ครูผู้สอนต้องการประเมินในเรื่องของการวัดความยาวของสิ่งของในหน่วยเซนติเมตรและมิลลิเมตร โดยนักเรียนจะได้ใช้ไม้บรรทัดวัดความยาวของสิ่งของที่กำหนดให้ในหน่วยเซนติเมตรและมิลลิเมตรในแบบฝึกหัดเพื่อตรวจสอบความเข้าใจ

จากการตรวจแบบฝึกหัด พบว่า ผู้เรียนส่วนใหญ่สามารถวัดและบอกความยาวหรือความสูงเป็นเซนติเมตรและมิลลิเมตรได้อย่างถูกต้องและแม่นยำ          มีเพียงผู้เรียนบางส่วนที่ยังมีการวัดที่คลาดเคลื่อนไปจากความยาวหรือความสูงที่แท้จริง ซึ่งเมื่อได้เรียกมาสอบถามและวัดให้ดู พบว่าความคลาดเคลื่อนนั้นมิได้เกิดจากการที่ผู้เรียนใช้ไม้บรรทัดผิดวิธี แต่เกิดจากการที่ผู้เรียนนับช่องในหน่วยมิลลิเมตรผิด เนื่องจากช่องมีขนาดเล็ก

กล่าวโดยสรุป การใช้รูปแบบการเรียนการสอนแบบสืบเสาะหาความรู้ 5E ในคาบเรียนนี้ถือว่าประสบผลสำเร็จ โดยในขั้นเร้าความสนใจ ผู้เรียนมีความจดจ่อกับกิจกรรมที่ได้ทำ เนื่องจากกิจกรรมวัดกระดาษนั้นทำให้ผู้เรียนได้ลงมือปฏิบัติจริงและผู้เรียนส่วนใหญ่รู้สึกสงสัยเกี่ยวกับการวัดที่จะเรียนในวันนี้ ในขั้นสำรวจและค้นหามีปัญหาเกี่ยวกับการจดจำและสรุปองค์ประกอบ จึงต้องมีการถามซ้ำ ๆ ย้ำ ๆ ให้ผู้เรียนจดจำและใช้ความรู้ที่มีไปสู่การสรุปเป็นองค์ความรู้ในขั้นอธิบายและลงข้อสรุปได้ จากนั้นในขั้นการขยายความรู้ ครูผู้สอนมีการเน้นเพิ่มเติมในส่วนที่ผู้เรียนไม่เข้าใจโดยการย้อนถามในเรื่อง ความยาว 10 มิลลิเมตร เท่ากับความยาว เซนติเมตร และสุดท้ายคือขั้นการประเมินที่ผู้เรียนส่วนใหญ่สามารถวัดความยาวหรือความสูงได้อย่างถูกต้อง แต่มีความคลาดเคลื่อนในการนับช่องในหน่วยมิลลิเมตร ซึ่งโดยรวมแล้วผู้เรียนได้รับองค์ความรู้อย่างละเอียดและชัดเจน อีกทั้งผู้เรียนสามารถบอกความยาวเป็นเซนติเมตรและมิลลิเมตร และเชื่อมโยงความรู้สู่การวัดในชีวิตประจำวันได้ ซึ่งเป็นไปตามวัตถุประสงค์ที่ได้ระบุไว้ ทั้งนี้จากแบบบันทึกพฤติกรรม ผู้เรียนทุกคนมีพฤติกรรมใฝ่เรียนรู้และจดจ่ออยู่กับบทเรียน อย่างไรก็ตามการจัดการเรียนรู้คาบนี้มีการใช้วัสดุ – อุปกรณ์จำนวนมาก เนื่องจากเป็นกิจกรรมรายบุคคล ในคาบเรียนต่อไปครูผู้สอนจึงมีความคิดว่าควรทดลองใช้เทคโนโลยีเข้ามาเป็นสื่อประกอบการเรียนการสอนมากขึ้นและทดลองให้ผู้เรียนได้จัดกิจกรรมแบบกลุ่มเพื่อส่งเสริมทักษะการทำงานเป็นทีมแก่ผู้เรียนต่อไป

การจัดการเรียนรู้

Active Learning

คณิตศาสตร์

การเรียนแบบสืบเสาะหาความรู้ 5E

บทความอื่นๆ