ไอซียู กู้ชีพหญ้าทะเล

ตะวัน โบว์พัฒนากุล
ตะวัน โบว์พัฒนากุล
1,632 ผู้ชม

ชื่อ – นามสกุลครู  นายตะวัน  โบว์พัฒนากุล  

ชื่อแผนการเรียนรู้  ไอซียู กู้ชีพหญ้าทะเล

สาระวิชา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี  ระดับชั้น ประถมศึกษาปีที่ 6

โรงเรียนบ้านฉางหลาง

แบบสรุปการพัฒนาห้องเรียนจากหลักสูตรโครงงานนวัตกรรมจากประสบการณ์โลก (IP2)

สำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาประถมศึกษาตรัง เขต 2


ประเด็นที่ 1  คำอธิบายแผนการเรียนรู้

         นักเรียนสามารถอธิบายการเกิดปรากฏการณ์เรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การเกิดภาวะโลกร้อน สามารถเขียนผังมโนทัศน์ ลงมือทำกิจกรรมโครงงานเกี่ยวกับการลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน และนักเรียนมีจิตสำนึกที่ดีต่อการอนุรักษ์ทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม


ประเด็นที่ 2 สรุปรายละเอียดการเรียนรู้ 6 ขั้นตอน

         ขั้นตอนที่ 1: การประเมินระดับการคิดผู้เรียน 

         ครูผู้สอนประเมินระดับการคิดของนักเรียนด้วยการให้ทำแบบทดสอบก่อนเรียนรายบุคคลและใช้คำถามเกี่ยวกับปรากฏการณ์เรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก การเกิดภาวะโลกร้อนเพื่อกระตุ้นความรู้เดิมของนักเรียน จากนั้นครูผู้สอนเปิดวิดีทัศน์เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อน ครูกระตุ้นให้นักเรียนเกิดความตระหนักและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ด้วยคำถาม ตัวแทนนักเรียนของแต่ละกลุ่มออกมานำเสนอผลงานหน้าชั้นเรียนเพื่ออภิปรายและวิพากษ์ร่วมกัน ทำให้นักเรียนเกิดความรู้และความเข้าใจเกี่ยวกับปรากฏการณ์เรือนกระจก การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโลก ผลกระทบที่เกิดจากภาวะโลกร้อนมากขึ้น

 

 ขั้นตอนที่ 2: การกระตุ้นความตระหนักและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้  

        ครูผู้สอนนำนักเรียนออกสำรวจแหล่งเรียนรู้ธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในชุมชน ได้แก่ อุทยานแห่งชาติหาดเจ้าไหม ชายหาดปากเมง และหาดหยงหลำ เพื่อเป็นการกระตุ้นความตระหนักและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้ให้กับนักเรียนเกี่ยวกับสภาพความเสื่อมโทรมของทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน ซึ่งส่งผลต่อการเกิดภาวะโลกร้อน และมลพิษทางทัศนียภาพ หลังจากนักเรียนทำกิจกรรมออกสำรวจแหล่งเรียนรู้ ตัวแทนของแต่ละกลุ่มออกมาอภิปรายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้ที่เกี่ยวข้องกับความสำคัญ ข้อมูลสภาพความเสื่อมโทรม และนำเสนอแนวทางการอนุรักษ์และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ช่วยลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อนได้ ซึ่งจากผลการอภิปรายและแลกเปลี่ยนเรียนรู้สามารถสรุปประเด็นสำคัญได้ ดังนี้

                             -  บริเวณหาดปากเมงและหาดหยงหลำมีขยะมูลฝอยเป็นจำนวนมาก ส่วนใหญ่เป็นขยะพลาสติก ขวดแก้ว และโฟม ซึ่งเป็นขยะที่ไม่สามารถย่อยสลายได้ รวมถึงต้นหญ้าทะเลที่ถูกพายุพัดขึ้นมาอยู่บนชายฝั่งเป็นจำนวนมาก บางส่วนเกิดการแห้งตายกลายเป็นขยะทะเล

                          -  การเก็บและคัดแยกประเภทของขยะทะเล  เพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์จึงเป็นแนวทางในการช่วยลดปัญหาการเกิดภาวะโลกร้อน  และมลพิษทางทัศนียภาพ นอกจากนี้ การฟื้นฟูต้นหญ้าทะเลที่ได้รับความเสียหายจากการถูกพายุพัดขึ้นมาอยู่บนชายฝั่งและนำกลับไปปลูกคืนสู่แหล่งหญ้าทะเลจะช่วยลดปริมาณขยะทะเลและช่วยดูดซับแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ ซึ่งเป็นสาเหตุหลักของการเกิดภาวะโลกร้อนได้


       
 

 ขั้นตอนที่ 3: วางแผนพัฒนาตนเองร่วมกัน 

                    ครูผู้สอนและนักเรียนนำข้อมูลประเด็นสำคัญที่ได้จากขั้นตอนการกระตุ้นความตระหนักและแรงบันดาลใจในการเรียนรู้มาร่วมกันออกแบบแผนการเรียนรู้ FILA Mapping  ซึ่งมีหัวข้อดังนี้ 

                                  Fact   ที่มา ขยะทะเลเป็นสาเหตุของการเกิดภาวะโลกร้อน และมลพิษทางทัศนียภาพ

                                  Learning Issue  มีวิธีการหรือแนวทางใดบ้างที่จะนำขยะทะเลที่คัดแยกได้ มาใช้ให้เกิดประโยชน์และช่วยลดภาวะโลกร้อนได้

                                 Innovative Ideas  การนำต้นหญ้าทะเลที่ได้รับความเสียหายจากการถูกพายุพัดขึ้นมาอยู่บนชายฝั่งมาหาวิธีการฟื้นฟูผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ประเภท    ทดลอง จากนั้นนำต้นหญ้าทะเลที่มีความแข็งแรงกลับไปปลูกบริเวณแหล่งหญ้าทะเล

                              Action Plan  นักเรียนวางแผนการดำเนินงานด้วยตนเอง โดยการนำประเด็นปัญหาที่ตนเองสนใจบูรณาการร่วมกับการใช้กระบวนการทางวิทยาศาสตร์ผ่านการทำโครงงานวิทยาศาสตร์ ประเภททดลอง เพื่อหาสภาวะที่เหมาะสมสำหรับการฟื้นฟูต้นหญ้าทะเล


                                                                        

 ขั้นตอนที่ 4 : เรียนรู้ด้วยการลงมือทำจริง 

        นักเรียนดำเนินการตามแผนงานของตนเอง ด้วยการนำต้นหญ้าทะเลที่ได้รับการคัดแยกจากขยะทะเลมาทำการทดลอง เพื่อศึกษาสภาวะที่เหมาะสมต่อการฟื้นฟูต้นหญ้าทะเล ซึ่งจากการผลการทดลองพบว่าปริมาณอัตราการให้แก๊สออกซิเจนและความเข้มของแสงที่เหมาะสม ช่วยให้ต้นหญ้าทะเลที่ได้รับความเสียหายจากการถูกพายุพัดขึ้นมาอยู่บนชายฝั่ง มีการเจริญเติบโต และมีความแข็งแรงสมบูรณ์ภายในระยะเวลา 1 เดือน สามารถสังเกตได้จากความยาวของใบและการงอกของราก จากนั้นนักเรียนนำต้นหญ้าทะเลที่ได้รับการฟื้นฟูไปปลูกคืนสู่แหล่งหญ้าทะเลตามธรรมชาติ


                                                                                 

                                                                   

                                                                                 


ขั้นตอนที่ 5 : ผู้เรียนประเมินตนเอง 

          นักเรียนร่วมกันอภิปรายการเรียนการสอนที่ผ่านมาทั้งหมด สอบถามความพึงพอใจและนักเรียนสามารถนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ตนเองและผู้อื่นมากน้อยเพียงใด

                                                    

ขั้นตอนที่ 6: คิดต่อยอดองค์ความรู้ 

        นักเรียนเผยแพร่นวัตกรรมการฟื้นฟูต้นหญ้าทะเลผ่านการจัดนิทรรศการภายในโรงเรียน และบริเวณท่าเรือปากเมง อำเภอสิเกา จังหวัดตรัง เพื่อให้คนในชุมชนและนักท่องเที่ยวที่สนใจได้ทราบข้อมูลเกี่ยวกับการอนุรักษ์และฟื้นฟูต้นหญ้าทะเล ซึ่งเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถช่วยลดปัญหาภาวะโลกร้อนได้ รวมถึงนักเรียนได้มีการวางแผนงานต่อยอดองค์ความรู้ ด้วยการศึกษาปัจจัยที่ช่วยลดระยะเวลาการฟื้นฟูต้นหญ้าทะเล รวมถึงระยะเวลาการให้แก๊สออกซิเจน เพื่อเป็นการลดการใช้พลังงานและประหยัดค่าใช้จ่าย 

                                                     

บทความอื่นๆ