“โครงการพัฒนาแพลตฟอร์มดิจิตัลเพื่อเสริมสร้างนวัตกรรม การเรียนรู้ในชั้นเรียนและการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้” เป็นนวัตกรรมของอค์กร OECD ที่ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา มีวัตถุประสงค์ดังนี้ 1) พัฒนาต้นแบบแพลตฟอร์มการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้แบบดิจิทัลในรูปแบบภาษาไทย ซึ่งมีเนื้อหาที่เหมาะสมกับการจัดการเรียนรู้ของครูและผู้เรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 1-6 ในไทย 2) เพื่อพัฒนาคณะทำงานหลัก (Core Team) ของการพัฒนาแพลตฟอร์มการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้และการฝึกอบรมแกนนำใน การถ่ายทอดแนวทางการใช้งานและใช้ประโยชน์แพลตฟอร์ม 3) เพื่อทดลองนำแพลตฟอร์มการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้ไปใช้ในการจัดการเรียนรู้ของครู สำหรับนวัตกรรมการประเมินการเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง เป็นการประเมินเพื่อพัฒนา ที่มีความเหมาะสมกับการจัดการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21 รูปแบบการประเมินจะเปลี่ยนจากประเมินความรู้ ที่เป็นแบบเลือกตอบปรนัย มาสู่การประเมินสมรรถนะที่เปิดกว้าง มีระบบโต้ตอบกับผู้ใช้ในการใช้เหตุผลบนฐานข้อมูลและหลักฐานเชิงประจักษ์ หากทำผิดก็แก้ไขได้ จะทำให้เกิดการประเมินว่าทำครั้งที่สองทำดีขึ้นไหม มีความอดทน ต่อสู้ และมี Growth Mindset หรือไม่ การประเมินเพื่อพัฒนาและการเรียนรู้ผ่านแพลตฟอร์ม PILA ทำให้เกิดวงจรการเรียนรู้ในชั้นเรียน ซึ่งที่ผ่านมาเราติดกับดักแค่ตอนสอบ ใช้การประเมินเชิง Summative Assessment หรือการสอบไล่ พอวัดผลแล้วก็ปิดเทอม ไม่ได้มีการพัฒนา จึงต้องทำให้เกิดการประเมินผลลัพธ์การเรียนรู้เชิง Formative Assessment หรือ การประเมินความก้าวหน้า มากขึ้น ให้ครูมีเครื่องมือนี้ในการประเมินผลตอนที่เด็กกำลังเรียน แต่ไม่ใช่การสอบมิดเทอม จะทำให้เด็กรู้ว่าเรียนรู้เพื่อไปสู่เป้าหมายหรือเนื้อหาส่วนไหน ตัวเองเรียนรู้มาถึงจุดไหน และเป้าหมายการเรียนรู้ต่อไปคืออะไร โดยการประเมินในรูปแบบดังกล่าวจะทำให้รู้ว่าเด็กเรียนได้ดีขึ้นหรือแย่ลงแล้วต้องรีบพัฒนา อย่าไปรอลุ้นประเมิน PISA เพียงอย่างเดียว ซึ่งจริง ๆ PISA เป็นเพียงเหมือนการตรวจสุขภาพเท่านั้น ที่ทำให้เรารู้ว่าต้องพัฒนาตรงไหนอย่างไร แต่กระบวนการเรียนรู้ที่ดีอย่างต่อเนื่องในห้องเรียน จะช่วยพัฒนาผู้เรียนได้อย่างเหมาะสมมากกว่า