หลักสูตรทักษะการใช้คำถามเพื่อพัฒนาทักษะคิดเป็นหลักสูตรที่พัฒนาขึ้นเพื่อพัฒนา เกิดจากแนวคิด/หลักการ/ทฤษฎีทักษะสำคัญของครูเพื่อศิษย์ในศตวรรษที่ 21 สิ่งสำคัญในการพัฒนาทักษะครูสำหรับจัดการเรียนรู้เพื่อพัฒนาศิษย์ ประกอบด้วยทักษะหลักทั้ง 4 ประการ ได้แก่ 1. ฟัง อย่างใคร่ครวญ คือ ทักษะในการฟังด้วยใจที่เป็นกลางของครูต่อนักเรียน ไม่ด่วนตัดสินพิพากษา ฟังแบบเอาใจเขามาใส่ใจเรา (Empathy) เพื่อให้เข้าถึงความรู้สึก ความต้องการ ทั้งในด้านจิตใจ และความคิดของนักเรียน สำหรับใช้เป็นต้นทุนในการสอน ออกแบบกระบวนการเรียนรู้เพื่อพัฒนาต่อไป 2. สะท้อน การรับรู้ คือ ทักษะที่ต่อเนื่องจากทักษะการฟังอย่างใคร่ครวญ โดยเป็นการแสดงการรับรู้ (Acknowledgement) ของครู ผ่านการใช้ทั้งภาษากาย หรือ อวจนภาษา และ/หรือ การใช้คำพูดสะท้อนกลับที่สั้น กระชับ ได้ใจความ เพื่อให้เกิดสัมพันธภาพที่ดีในการสื่อสาร ไม่เป็นเพียงแค่การสื่อสารทางเดียวจากนักเรียน จนนำไปสู่การเกิดพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่แห่งความเข้าใจ อันจะเอื้อประโยชน์ต่อการออกกระบวนการเพื่อการเรียนรู้ต่อไป 3. ถาม ให้คิด คือ ทักษะในการใช้คำถามที่มีประสิทธิภาพ ไม่ยาก หรือง่ายเกินไปต่อบริบทของผู้เรียน ช่วยให้เกิดการกระตุ้นทางความคิดต่อนักเรียน ซึ่งแน่นอนว่านักเรียนจะกล้าคิดได้ ต้องถูกถามบนพื้นที่ปลอดภัย พื้นที่แห่งอิสรภาพทางความคิด โดยจะได้มาจากการที่ครูมีทักษะการฟังอย่างใคร่ครวญ และ การสะท้อนการรับรู้ที่ดี ซึ่งเมื่อเกิดการถามในพื้นที่การเรียนรู้จากครูสู่นักเรียนแล้ว พลวัตของการเรียนรู้ย่อมเกิดขึ้น และหมุนเกลียวไปเรื่อย ๆ ตามสถานการณ์ และกระบวนการที่ได้ออกแบบไว้ 4. ถอด บทเรียน คือ ทักษะที่ครูสามารถจับประเด็น หรือ สรุปผลที่เกิดขึ้นจากปรากฏการณ์ต่าง ๆ ของการเรียนรู้ นับเป็นทักษะการคิดสังเคราะห์ เพื่อการสร้างสรรค์ที่มีบทบาทสำคัญในการช่วยให้ตัวครูและผู้เรียนเห็นผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นจากกระบวนการเรียนรู้ต่าง ๆ โดยไม่ได้เป็นการนำทฤษฎีมาบอกเล่าให้ฟังลอย ๆ แต่อาศัยการเชื่อมโยงจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นจริงเข้าสู่การอธิบายบนฐานความรู้ที่เกี่ยวข้อง